ทำไมมุสลิมต้องเลือกเรียนมัดดารอซะฮ์

ดร.บัณฑิต อารอมัน
เรื่อง

มัดดารอซะฮ์ (Madrasa) เป็นคำมาจากภาษาอาหรับ แปลว่า สถานศึกษาหรือโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม
มีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชาศาสนกิจของศาสนาอิสลาม เน้นการเรียนการสอนในวิชา
คำภีร์อัลกรุอาน วิชาฮาดิษ (คำสอนของศาสดามูฮำหมัด) วิชากฎหมายอิสลาม หลักจริยธรรมอิสลาม

        ปัจจุบันมัดดารอซะฮ์ได้ปรับให้มีวิชาสามัญผสมผสานอยู่ในหลักสูตรด้วย อาทิ วิทยาศาสตร์ กฎหมาย สังคมศึกษา เป็นต้น มัดดารอซะฮ์จึงเป็นสถานศึกษาที่ที่ผู้ปกครองชาวมุสลิมมุ่งหวังให้ลูกหลานของตนเองได้เรียนทั้งศาสนาและสามัญควบคู่กันไป โดยใช้หลักการของศาสนาอิสลาม มีคำภีร์อัลกรุอานเป็นทางนำของการพัฒนาองค์ความรู้ในทุก ๆ แขนงวิชา ชาวมุสลิมเชื่อว่าคำภีร์อัลกรุอานถือเป็นหลักคำสอนโดยตรงจากพระองค์อัลลอฮ (ซบ.) เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องสนับสนุนให้บุตรหลานได้เล่าเรียน และเป็นกุญแจสำคัญของทางนำชีวิตในโลกนี้

          สถานศึกษามัดดารอซะฮมีความแตกต่างจากโรงเรียนทั่ว ๆ ไป กล่าวคือ นักเรียนที่เข้ามาเรียนใน   มัดดารอซะฮ์จะต้องมาพำนักอยู่ในโรงเรียน โดยแยกสัดส่วนระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง มีการปฏิบัติศาสนกิจร่วมกัน อาทิ การละหมาด การขอพร การถือศิลอด ตลอดจนการร่วมรับประทานอาหารร่วมกัน มีครูประจำชั้นเป็นผู้ดูแลแทนผู้ปกครอง ดังนั้น นักเรียนที่เข้ามาอยู่ในมัดดารอซะฮจะไม่ได้กลับบ้านเว้นแต่จะมีผู้ปกครองมารับเท่านั้น มัดดารอซะฮ์จึงสถานศึกษาทั้งที่เรียนและที่พัก ตลอดจนเป็นสถานที่ในการฝึกฝนให้นักเรียนอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้

          จากประวัติศาสตร์ มัดดารอซะฮ์มีมากตั้งแต่ในยุคต้นศตวรรษที่ 13 ในช่วงของอาณาจักรออตโตมัน ซึ่งระบอบการศึกษาของศาสนาอิสลามมีความรุ่งเรืองอย่างมากโดยเฉพาะในกรุงแบกแดดประเทศอิรัก จนทำให้เมืองแบกแดดเปรียบเสมือนศูนย์กลางการเรียนรู้ของมุสลิมทั่วโลก มัดดารอซะฮ์จึงเป็นสถานที่บ่มเพาะการเรียนรู้วิชาทางศาสนาอิสลามที่สำคัญของมุสลิม นอกจากนี้มัดดารอซะฮ์จะใช้วิชาอัลกรุอานเป็นกรอบองค์ความรู้ของศาสตร์แขนงต่าง ๆ โดยผสมผสานหลักความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว และกำหนดแนวทางการเรียนการสอนในวิชาต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม

 

          อย่างไรก็ตามมัดดารอซะฮ์ในปัจจุบัน มิได้มีหลักสูตรการศึกษาที่ตายตัว แต่ขึ้นอยู่กับพื้นที่และแนวคิดอุดมการณ์ทางการศึกษาของแต่ละแห่ง อาทิ หลักสูตรการเรียนของมัดดารอซะฮ์ในกลุ่มประเทศตะวันตกก็จะเน้นวิชาทางด้านสามัญ ไม่ว่าจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ แต่ในกลุ่มประเทศตะวันออกจะเน้นในเรื่องของศาสนาเป็นส่วนใหญ่ และมัดดารอซะฮ์บางแห่งไม่ได้รับการรับรองการศึกษาจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากไม่ได้ใช้หลักสูตรกลางในการจัดการเรียนการสอน

          มัดดารอซะฮ์จึงเป็นช่องโหว่ต่อคุณภาพทางการศึกษาของมุสลิมโดยเฉพาะองค์ความรู้ในด้านสายสามัญ ประกอบกับมัดดารอซะฮ์ส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษาในระบบเอกชนและบางแห่งก็เปิดขึ้นมาโดยไม่มีการจดทะเบียนจากรัฐบาลส่วนท้องถิ่น จึงทำให้ขาดการเข้าถึง ซึ่งหลักสูตรและวิชาต่าง ๆ ในมัดดารอซะฮ์จึงเป็นไปตามบริบทของพื้นที่ในการบริหารหลักสูตร อาทิ หลักแนวคิดแบบซูฟียที่ระบบการศึกษามีความแตกต่างกันทั้งในด้านการปฏิบัติ ความเชื่อ และการกระทำที่เข้าข่ายสู่ความเป็นสุดโต่ง มีสำนักคิดซูฟียที่อยู่ในมัดดารอซะฮ์มากมาย แตกออกเป็นสาขาต่าง ๆ มีระบบคำสอนและทฤษฎีที่แตกต่างกันไป จนทำให้

ปัจจุบันมัดดารอซะฮ์กลายเป็นสถาบันการศึกษาที่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการ
ระบบการศึกษา และหลักสูตรที่นำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อป้องกันมิให้เกิดการบ่มเพาะที่เน้นในของความสุดโต่งทางศาสนา

          จนนำมาสู่การสร้างสภาวะทางสังคมที่แตกแยก สร้างความขัดแย้ง สร้างวาทกรรมในการโจมตีระหว่างสำนักคิด จนพัฒนาสู่ความขัดแย้ง และความรุนแรงในที่สุด และแม้ว่าจะมีโรงเรียนรัฐบาลมากมายในพื้นที่การศึกษาของตนเอง แต่ผู้ปกครองก็ยังสนับสนุนให้บุตรหลานของตัวเองไปศึกษาในมัดดารอซะฮ์มากกกว่า เนื่องจากมีเจตนาให้บุตรหลานของตนเองเป็นผู้ปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง

          ดังนั้น มัดดารอซะฮ์ จึงเป็นความมุ่งหวังของผู้ปกครองที่จะให้บุตรหลานของตนเองได้รับวิชาความรู้เกี่ยวกับศาสนา ทำให้จำนวนนักเรียนในมัดดารอซะฮ์มีจำนวนมากพอที่จะสามารถเลี้ยงดูตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากภาครัฐ

 

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.