พุทธสุดโต่ง : ความหมายและการแสดงออก

ผศ.ดร.วราภรณ์ ฉัตราติชาต
คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
เรื่อง

พุทธสุดโต่งคืออะไร

          เมื่อพูดถึงลัทธิสุดโต่ง คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงการกระทำของชาวมุสลิมหรือผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีต่อผู้นับถือศาสนาอื่น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ ก็มีแนวคิดสุดโต่งด้วยเช่นกัน ดังที่จะเห็นได้จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชาวพุทธในประเทศศรีลังกาและเมียนมา กระทำต่อผู้ที่นับถือศาสนาอื่น โดยเฉพาะศาสนาอิสลาม แม้กระทั่งในประเทศไทยเอง ก็มีการแสดงออกที่สะท้อนลัทธิสุดโต่งด้วย เพียงแต่การกระทำเหล่านั้น รับรู้กันในวงจำกัด

         จรัล มะลูลีม[1] นิยามความสุดโต่งไว้ว่า “คือกระบวนการที่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนปฏิเสธระบบที่มีอยู่ และ/หรือหมดหวังกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านทางกฎหมาย…และกลุ่มคนเหล่านั้นซึ่งเป็นคนส่วนน้อย มักคิดอยู่เสมอว่าจะใช้ความรุนแรงต่อต้านพลเรือนคนอื่น ๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโกรธเคืองของพวกเขา”

         แต่ในกรณีของกลุ่มพุทธสุดโต่งนั้น ไม่ใช่เป็นการแสดงออกของคนส่วนน้อยในประเทศ ลัทธิพุทธสุดโต่ง เกิดขึ้นในประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ดังนั้น หากจะต้องให้คำนิยามของคำว่า


พุทธสุดโต่ง ก็คงจะหมายถึง การแสดงออกของพระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนบางกลุ่ม ในการต่อต้าน ไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย เกลียดชัง ผู้ที่นับถือศาสนาอื่น รวมถึงปฏิเสธที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับค่านิยมและนโยบายของตน


         สำหรับกระแสการแสดงออกถึงการต่อต้านและเกลียดชังชาวมุสลิมในช่วงหลัง 9/11 นี้ เป็นผลมาจากกระแสเกลียดกลัวอิสลาม หรือ Islamophobia ร่วมกับการเสนอข่าวของสื่อมวลชน เกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงและผลกระทบของความรุนแรงของกลุ่มอิสลามสุดโต่ง ก็ยิ่งทำให้พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนบางกลุ่มแสดงออกถึงความเกลียดชังและต่อต้านชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศหรือชุมชนเดียวกัน ดังเช่นที่เกิดกับประเทศศรีลังกาและเมียนมา รวมถึงประเทศไทยในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ด้วย

แค่ไหนถึงสุดโต่ง

       จากข่าวและเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรงของกลุ่มชาวพุทธสุดโต่ง เพื่อแสดงออกถึงความเกลียดชังและการต่อต้านผู้นับถือศาสนาอื่น พอจะสรุปให้เห็นถึงการใช้ความรุนแรงใน 3 รูปแบบ คือ ความรุนแรงเชิงกายภาพ เชิงความคิด และเชิงวาทกรรม

1) ความรุนแรงเชิงกายภาพ
         ความรุนแรงเชิงกายภาพเป็นการแสดงออกที่เด่นชัดที่สุดในกลุ่มพุทธสุดโต่ง ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนต่อต้านในชุมชนต่าง ๆ จนนำไปสู่การใช้ความรุนแรง ทั้งการทำร้ายร่างกายชาวมุสลิม การเผาทำลายอาคารร้านค้า สถานที่ละหมาด ศาสนสถานของชาวมุสลิม การขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในเมียนมา รวมไปถึงสงครามกลางเมืองระหว่างชาวพุทธสิงหลและชาวทมิฬที่นับถือศาสนาฮินดูในประเทศศรีลังกา

ที่มา https://scroll.in/article/877143/why-the-peaceful-religion-of-buddhism-has-grown-violent-in-sri-lanka-and-myanmar
ที่มา : https://scroll.in/article/877143/why-the-peaceful-religion-of-buddhism-has-grown-violent-in-sri-lanka-and-myanmar

2) ความรุนแรงเชิงความคิด
         กลุ่มพุทธสุดโต่งแสดงออกถึงความเกลียดชังและต่อต้านผู้ที่นับถือศาสนาอื่นผ่านทางความคิดหรือแนวคิดต่าง ๆ เช่น การคว่ำบาตรชาวมุสลิมในศรีลังกา การรณรงค์ต่อต้านพิธีกรรมหรือแนวปฏิบัติของคนต่างศาสนา ตั้งแต่ การต่อต้านระบบอาหารฮาลาลของชาวพุทธสิงหลในศรีลังกา รวมทั้งการแต่งกายของชาวมุสลิม[2]

ที่มา : https://www.gawaher.com/topic/740464-the-buddhist-extremists-targeting-sri-lankas-muslims/

         การใช้ความรุนแรงเชิงความคิด ยังสะท้อนให้เห็นจากการผลักดันร่างกฎหมายโดยคณะกรรมการเพื่อปกป้องชาติและศาสนา หรือรู้จักกันในนาม “มะบะธะ (Ma Ba Tha)” ในเมียนมา จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเปลี่ยนศาสนา (2) ร่างกฎหมายคู่สมรส (3) ร่างกฎหมายการควบคุมประชากรและด้านสุขภาพ และ (4) ร่างกฎหมายการแต่งงานของหญิงชาวพุทธซึ่งรัฐสภาพม่าได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งงานของหญิงชาวพุทธ ซึ่งกำหนดให้หญิงชาวพุทธที่จะแต่งงานกับชายที่นับถือศาสนาอื่นจะต้องขออนุญาตจากผู้นำชุมชนก่อน[3] [4] [5]

3) ความรุนแรงเชิงวาทกรรม

         กลุ่มพุทธสุดโต่ง แสดงออกถึงความรุนแรงในเชิงวาทกรรม ในหลายรูปแบบโดยเฉพาะผ่านการเทศนาและการสื่อสารในสื่อสังคม (Social Media) ต่าง ๆ ซึ่งความรุนแรงเชิงวาทกรรมที่พบ ประกอบไปด้วย

(1) การเลือกคำสั่งสอนทางศาสนาที่มีแนวคิดรุนแรง เพื่อนำมาแนวทางให้กับอุดมการณ์ชาตินิยมในกลุ่มของตนเอง ดังกรณีของประเทศศรีลังกา ที่ชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธมองว่า ตนเองเป็นศูนย์กลางของประเทศศรีลังกา นำไปสู่ความเป็นชาตินิยมที่กดขี่คนกลุ่มน้อยต่างศาสนา ซึ่งลัทธิชาตินิยมนี้ ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของนายมหินทา ราชาปักษา[6] [7] หรือพระสงฆ์ที่เป็นสมาชิกของกลุ่ม “มะบะธะ” ชาวพุทธสุดโต่งในเมียนมา โดยเฉพาะพระวีระธุ อชิน ที่ใช้การเทศนาเป็นช่องทางการปลุกระดม สร้างความเกลียดชังด้านศาสนา และยั่วยุให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม


การเคลื่อนไหวของกลุ่มพุทธสุดโต่ง ถือว่าการแสดงบทบาททางการเมืองในฐานะ “ผู้ปกป้องศาสนาพุทธ” (Guardians of Buddhism) ทั้งในศรีลังกา[8] และเมียนมา ดังชื่อของกลุ่มมะบะธะ ที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “คณะกรรมการเพื่อปกป้องชาติและศาสนา”


(2) การกล่าวหาผู้นับถือศาสนาอื่นด้วยข้อมูลที่เป็นเท็จ จนไปสู่ความรุนแรงเชิงกายภาพ เช่น

  • การพูดถึงศาสนาอิสลามว่าเป็นภัยคุกคามต่อการคงอยู่ของศาสนาพุทธในศรีลังกา โดยยกตัวอย่างกรณีของประเทศต่าง ๆ ไม่ว่า จะเป็นอัฟกานิสถาน ปากีสถาน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่เคยเป็นประเทศพุทธมาก่อน แต่โดนอิสลาม “กลืนชาติ” ให้กลายเป็นชาติมุสลิมในปัจจุบัน [6] [7]

  • การกล่าวหาว่า ชาวมุสลิมเป็นผู้ก่อให้เกิดความหวาดกลัวและความรุนแรง (Muslims are the agents of fear and violence) โดยกลุ่ม Bodhu Bala Sena (BBS หรือ Buddhist Power Force หรือ The Army of Buddhist Power) และ Sinhala Ravaya ที่พยายามจุดประกายความกลัวในสังคมประเทศศรีลังกา โดยคนกลุ่มนี้ ต้องการรณรงค์เพื่อเรียกร้องหรือชักชวนให้เกิดการต่อต้านชาวมุสลิมที่คุกคามความเชื่อมั่นในอนาคตของชุมชน (soliciting a reaction from Muslims threatens the future of community trust) [8]

  • การใช้วาทกรรมที่ว่า ชาวพุทธเป็นเหยื่อ (Victims) ของอิสลาม โดยพระเอนดาร์ ซักกา บิวินธา พระสงฆ์ในกลุ่มมะบะธะ ได้ยกตัวอย่างถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอินเดีย ที่กลุ่มอิสลามผู้รุกรานบังคับให้คนเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม จึงทำให้กลุ่มมะบะธะเห็นว่า การปราบปรามชาวโรฮิงญาด้วยการใช้ความรุนแรงเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้อันยาวนานเพื่อขับไล่ชาวมุสลิมที่มารุกรานดินแดนชาวพุทธ[9]

  • แนวคิดที่ว่า ชาวมุสลิมเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ ดังที่พระวีระธุ อาชิน ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าถ้าพวกเรา (ชาวพุทธ) อ่อนแอ ประเทศของเราก็จะกลายเป็นชาติมุสลิม” (“If we are weak, our land will become Muslim”)[10]

  • กลุ่ม 969 กล่าวหาว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy) นำโดยนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านนั้น ถูกครอบครองโดยชาวมุสลิมและไม่สามารถเชื่อถืออีกต่อไปได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ประชาชนร้อยละ 90 ของประเทศเมียนมา เป็นชาวพุทธ และชาวมุสลิมก็ไม่มีตัวแทนที่ได้รับเลือกตั้งในรัฐสภาด้วย[11]

  • การกล่าวหาผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างในช่วงสงครามเย็นในประเทศไทย ด้วยวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ไม่บาป” ของพระกิตติวุฒโฒ ก็นำไปสู่การใช้ความรุนแรง

(3) การใช้คำต่าง ๆ เรียกผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ไม่ว่าจะเป็น “ศัตรู” ดังที่ชาวพุทธสุดโต่งในประเทศศรีลังกา

เปลี่ยนถ่ายศัตรูเชิงสัญลักษณ์จากชาวทมิฬ ไปที่ชาวมุสลิมในฐานะที่เป็น “ศัตรูที่มาใหม่”8 หรือ ชาวมุสลิม คือ “คนนอก (Alien)” รวมทั้งพูดถึงศาสนาอิสลาม ว่าคือ “ผู้รุกราน”5 หรือ “ผู้บุกรุก (Invasive Islam)”10

(4) การกล่าวอ้างเหตุผลที่มีพื้นฐานจากความเกลียดกลัวอิสลาม (Islamophobia) ซึ่งพบมากในประเทศไทย ดังกรณีของการต่อต้านการสร้างมัสยิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปี 2561 ทั้งในจังหวัดบึงกาฬ มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และขอนแก่น โดยผู้ต่อต้านให้เหตุผลหนึ่ง ก็คือ การมีชุมชนคนมุสลิมอาศัยอยู่อาจทำให้เกิดการก่อการร้ายและสร้างความไม่สงบเช่นเดียวกันกับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น[12]

ที่มา : https://isaanrecord.com/2018/12/10/islam-muslim-masjid-in-isaan/

                จะเห็นได้ว่ากลุ่มพุทธสุดโต่งนั้น เป็นการต่อต้านผู้นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก พบได้ในประเทศที่มีชาวพุทธเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของประเทศ เช่น ศรีลังกา เมียนมา และประเทศไทย โดยการแสดงออกด้วยการทำร้ายร่างกายและทรัพย์สิน การต่อต้านแนวคิดหรือแนวปฏิบัติของผู้ต่างศาสนา รวมไปถึงการใช้วาทกรรมที่รุนแรงกล่าวหาชาวมุสลิม ซึ่งการสร้างความเกลียดชังด้วยการใช้วาทกรรมนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ดูไม่รุนแรง แต่กลับเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เนื่องจากพระสงฆ์ โดยเฉพาะในประเทศศรีลังกาและเมียนมา เป็นกลุ่มคนได้รับการยอมรับ นับถือจากชาวพุทธ ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงมากที่กลุ่มชาวพุทธสุดโต่งจะเชื่อฟังและยอมรับแนวคิดของกลุ่มพระสงฆ์สุดโต่งจนนำไปสู่ความรุนแรงด้านอื่น รวมถึงการเติบโตของสื่อสังคม (Social Media) ที่ช่วยแพร่กระจายแนวคิดสุดโต่งและการสร้างความเกลียดชังระหว่างคนต่างศาสนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในประเทศไทยที่อาจจะไม่ค่อยมีการแสดงออกถึงความรุนแรงเชิงกายภาพ แต่ความรุนแรงผ่านวาทกรรมนี้ มีอยู่ให้เห็นทั่วไป และกระตุ้นให้เกิดการแสดงออกถึงประทุษวาจา (Hate Speech) ต่อผู้นับถือศาสนาอิสลามได้อย่างง่ายดาย

 


[1] จรัล มะลูลีม. (2559). Islamophobia เรียนรู้ ลบเลือนความหวาดระแวง. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
[2] Imtiyaz, A.R.M. and Mohamed-Saleem, A. (2015). Muslims in post-war Sri Lanka: understanding Sinhala-Buddhist mobilization against them. Asian Ethnicity, 16 (2), 186 – 202.
[3] สำนักข่าวชายขอบ (19 พฤษภาคม 2558). พระวีระธุ ระบุกฎหมายควบคุมประชากรจะยับยั้ง”ชาวเบงกาลี”. [ออนไลน์] สำนักข่าวชายขอบ. เข้าถึงจาก http://transbordernews.in.th/home/?p=8582 (เข้าถึงเมื่อ 6 ธันวาคม 2561).
[4] สำนักข่าวชายขอบ (10 กรกฎาคม 2558). สภาพม่าผ่านร่างกฎหมายหญิงชาวพุทธแต่งงานกับชายศาสนาอื่นต้องขออนุญาต หลายฝ่ายห่วงจำกัดสิทธิผู้หญิง.[ออนไลน์] สำนักข่าวชายขอบ. เข้าถึงจาก http://transbordernews.in.th/home/?p=9122 (เข้าถึงเมื่อ 6 ธันวาคม 2561).
[5] Taylor, J. (12 March 2018). Rise of violent Buddhist rhetoric in Asia defies stereotypes. [online] AFP News. เข้าถึงจาก https://sg.news.yahoo.com/rise-violent-buddhist-rhetoric-asia-defies-stereotypes-021356015.html  (เข้าถึงเมื่อ 6 ธันวาคม 2561)
[6] Voice TV (26 มีนาคม 2556). จับกระแสพุทธสุดโต่งในศรีลังกา. [ออนไลน์] Voice TV.Com เข้าถึงจาก https://www.voicetv.co.th/read/66211 (เข้าถึงเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2561)
[7] Fowsar, M.A.M. (2014). Religious Symbolism and Politics in Sri Lanka: Muslim’s Grievances. Proceeding. First International Symposium – 2014, FIA, SEUSL (page 32-36).
[8] Rajapaksha, K. (20XX). Rising Religious Extremism in Post-war Sri Lanka and Its Breeding Cyber-politics. เข้าถึงจาก http://www.Academia.edu (เข้าถึงเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561).
[9] เฟอร์กัลป์ คีน. (14 กันยายน 2560). วิกฤตโรฮิงญา: ฟังความเห็นพระสงฆ์สายสุดโต่งในเมียนมา. [ออนไลน์] BBC.Com. เข้าถึงจาก https://www.bbc.com/thai/international-41266484.  (เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2561).
[10] Fuller, T. (20 June 2013). Extremism Rises Among Myanmar Buddhists. [online] The New York Times. เข้าถึงจาก https://www.nytimes.com/2013/06/21/world/asia/extremism-rises-among-myanmar-buddhists-wary-of-muslim-minority.html เข้าถึงเมื่อ 11 ธันวาคม 2561.  
[11] Thompson, N. (16 July 2013). The 969 Movement and Burmese Anti-Muslim Nationalism in Context. Buddhist Peace Fellowship[online] เข้าถึงจาก http://www.buddhistpeacefellowship.org/the- 969-movement-and-burmese-anti-muslim-nationalism-in-context/  เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2561.
[12] เดอะ อีสานเรคคอร์ด. (10 ธันวาคม 2018). มัสยิดบึงกาฬ : ความจำเป็นที่แตกต่างนำไปสู่การต่อต้าน. [ออนไลน์] เดอะ อีสานเรคคอร์ด. เข้าถึงจาก https://isaanrecord.com/2018/12/10/islam-muslim-masjid-in-isaan/  เข้าถึงเมื่อ 5 มกราคม 2562.

One thought on “พุทธสุดโต่ง : ความหมายและการแสดงออก

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.