สามเส้าของแนวคิดสุดโต่ง (ตอนที่ 1)

ผศ.ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์
ผู้อำนวยการศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง

อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนา อัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ และอัตลักษณ์ทางฆราวาสนิยม

พร้อมๆ กับความรุนแรงในแคชมีร์ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ชื่อของบูรฮาน วานี (Burhan Wani) เด็กหนุ่มจากเมืองปุลวามาก็ได้รับการเอ่ยถึงอยู่บ่อยครั้งทั้งจากสื่อมวลชนและประชาชนในพื้นที่ บูรฮาน วานีเป็นอดีตหัวหน้านักรบของกองกำลังปลดแอกแคชมีร์ ฮิซบัลมุจญาฮิดีน (Hizb-ul-Mujahideen) ที่ถูกกองทัพอินเดียสังหารชีวิตไปเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2559  ครั้งหนึ่งบูรฮาน วานีก็เป็นเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตอย่างเด็กวัยรุ่นจากครอบครัวผู้มีอันจะกินของอินเดียทั่วไปคนหนึ่ง แต่หลังจากเหตุการณ์ที่เขาและพี่ชายถูกนายทหารจากกองทัพอินเดียซ้อมปางตาย ในปีพ.ศ. 2553 เขาก็หายตัวออกจากบ้านเพื่อเข้าร่วมกองกำลังปลดแอกเมื่ออายุ 15 ปี

ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในแคชมีร์ ณ ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งในประเทศซีเรีย ชามิน่า เบกุม (Shamima Begum) เด็กสาวสัญชาติอังกฤษเชื้อสายบังกลาเทศก็กำลังพยายามร้องขอต่อรัฐบาลอังกฤษ ให้รับตัวเธอและลูกน้อยที่เพิ่งคลอดได้ไม่นานกลับประเทศ ชามิน่า เบกุมเป็นหนึ่งในเด็กสาวสามคนจากเขตเบทนัลกรีนในกรุงลอนดอนที่หายตัวจากบ้านไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 เพื่อเข้าร่วมขบวนการไอเอส (IS – Islamic State) ในประเทศซีเรีย จากบทสัมภาษณ์ของเธอที่ให้ไว้กับสำนักข่าวบีบีซีของอังกฤษเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 ชามิน่า เบกุมกล่าวถึงเหตุผลที่เธอตัดสินใจเข้าร่วมขบวนการไอเอสเมื่อตอนอายุ 15 ปีว่า เธอถูกดึงดูดโดยวิดีโอคลิปชวนเชื่อของกลุ่มไอเอสที่ให้เธอได้รับรู้ถึงการกระทำอันเลวร้ายที่โลกมีต่อมุสลิม ได้เห็นการต่อสู้เพื่อสิทธิและชีวิตอันงามของมุสลิมภายใต้การปกครองของรัฐอิสลาม เธอยืนยันว่าเธอไม่ได้รู้เห็นใดใดกับการใช้ความรุนแรงหรือการฆ่าผู้บริสุทธิ์ของไอเอส เธอเดินทางไปยังซีเรียเพื่อที่จะแต่งงาน ใช้ชีวิตเป็นแม่และภรรยาที่ดีตามวิถีมุสลิม

อะไรคือแรงกระตุ้นที่ทำให้คนหรือสังคมหนึ่งๆ มีใจโน้มเอียงไปทางแนวคิดสุดโต่ง?

จากอุดมการณ์ทางศาสนาและการเมือง (Political and Religious Ideologies) จากการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม (Grievances) จากความยากจนและความไม่เท่าเทียมกันในทางเศรษกิจ (Economic Deprivation and Inequality)  จากการกดขี่โดยรัฐ (State Repression) จากการไร้หนทางในการเข้าถึงกระบวนการทางการเมือง (Lack of Access to Political Institution) หรือจากการถูกปลุกปั่นโดยชนชั้นนำ (Elite Manipulation) เหล่านี้คือคำอธิบายที่เรามักจะยินกันอยู่บ่อยครั้งและก็ยังคงเป็นคำอธิบายที่ฟังขึ้นอยู่

Deepa Ollapally (2008) มองว่าในความเป็นจริงนั้น การก่อตัวของแนวคิดสุดโต่ง ทั้งในระดับปัจเจกและในระดับโครงสร้างสังคม ยังเป็นผลมาจากแรงกระตุ้นเชิงวัฒนธรรมและการเมืองที่เคลื่อนไหวและต่อสู้กันตลอดเวลา แรงกระตุ้นดังกล่าวก็คือ การต่อรองเชิงอัตลักษณ์สามเส้า อันประกอบด้วย อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนา (Ethno-religious Identity) หรือ ความเชื่อมโยงทางสายเลือดและความเชื่อ อัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-political Identity) หรือ ความรู้สึกผูกพันกับประเทศและดินแดน และอัตลักษณ์ทางฆราวาสนิยม (Secular Identity) หรือ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมและมนุษยชาติ  ที่ไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติศาสนาหรือภูมิรัฐศาสตร์[1]

ในภาวะสมดุล อัตลักษณ์ทั้งสามเส้าจะค่อนข้างมีความยืดหยุ่น โดยส่งแรงคัดคานหรือการประนีประนอมกันช่วยให้ไม่มีอัตลักษณ์ใดมีพลังเหนืออัตลักษณ์อื่นในภาวะสุดโต่ง อัตลักษณ์ของสังคมหรือของปัจเจกด้านใดด้านหนึ่งจะแข็งตัวเกินไป จนกระทั่งไม่สามารถประนีประนอมหรือผสานกับอัตลักษณ์อื่น ส่งผลให้เกิดแรงดึงดูดหรือแรงผลักให้เกิดความโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างสุดโต่ง

          เรื่องเล่าของบูรฮาน วานี และเรื่องเล่าของชามิน่า เบกุม อาจจะเกิดขึ้นต่างพื้นที่ ต่างบริบท และต่างวาระกัน แต่ก็เปิดเผยให้เห็นถึงการต่อรองของแรงกระตุ้นเชิงอัตลักษณ์สามเส้าที่มีพลังดึงดูดหรือผลักดันให้คนหรือสังคมหนึ่งหนึ่งมีโน้มเอียงไปทางแนวคิดสุดโต่ง อีกทั้งยังช่วยให้เราเห็นบทบาทของสื่อสมัยใหม่ที่มีความสามารถเผยแพร่ความคิดและเชื่อมโยงคนหนุ่มสาวที่อยู่ต่างพื้นที่กันให้เข้ามาร่วมเครือข่ายของขบวนการทางสังคมที่มีแนวคิดสุดโต่ง

เรื่องเล่าของบูรฮาน วานี

บูรฮาน วานีเติบโตมาในครอบครัวจามัท-อี-อิสลามี (Jamaat-e-Islami) ที่เชื่อในการปฏิรูปสังคมด้วยหลักปรัชญาอิสลามและการเรียกร้องสิทธิและเอกราชของแคชมีร์ผ่านกลไกทางการเมืองของอินเดีย ครอบครัวของเขาถือว่าเป็นครอบครัวมีการศึกษาและร่ำรวยของแคชมีร์ครอบครัวหนึ่ง บิดาของเขาเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประจำท้องถิ่น ส่วนมารดาก็จบการศึกษามาทางด้านวิทยาศาสตร์และเป็นครูสอนพระคัมภีร์กุรอานให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน บูรฮานเป็นเด็กเรียนดีคนหนึ่งและก็คงจะได้เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยสักแห่ง หากเขาไม่ได้ออกไปขี่รถจักรยานยนตร์เล่นในวันหนึ่งของฤดูร้อนเมื่อปี พ.ศ. 2553

          วันนั้น บูรฮาน พร้อมด้วยคาลิดพี่ชายของเขาและเพื่อนอีกคนหนึ่งออกไปขี่จักรยานยนตร์คันใหม่เล่นบนถนนสายหลักของเมืองอย่างที่ทำกันเป็นวิสัย ขณะที่กำลังผลัดกันขี่รถจักรยานยนตร์นั้น เด็กหนุ่มทั้งสามก็ถูกเรียกสุ่มตรวจโดยกลุ่มทหารแห่งกองกำลังพิเศษประจำรัฐจัมมุและแคชมีร์ นายทหารกลุ่มนี้ได้สั่งให้เด็กหนุ่มไปซื้อบุหรี่มาให้พวกตน เด็กหนุ่มปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่โต้แย้งเพราะเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ เมื่อคาลิดกลับมาพร้อมกับบุหรี่สำหรับนายทหาร เด็กหนุ่มทั้งสามก็เตรียมตัวที่จะกลับบ้าน แต่นายทหารกลุ่มนั้นกลับก่อกวนและซ้อมเด็กหนุ่มทั้งสาม บูรฮานกับเพื่อนหลบหนีไปได้ ในขณะที่คาลิดนั้นถูกซ้อมจนหมดสติและจักรยานยนตร์คันใหม่ของเขาก็ถูกทำลายจนยับเยิน บูรฮานลั่นวาจาว่าจะล้างแค้นให้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น และหกเดือนหลังจากนั้นบูรฮานก็หายตัวออกจากบ้านไปเข้าร่วมกองกำลังฮิซบัลมุจญาฮิดีน[3]

          ความที่เป็นเด็กหนุ่มหน้าตาดีและมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีอย่างเด็กรุ่นใหม่ บูรฮาน วานีได้ใช้ประโยชน์จากช่องทางสื่อสารบนสื่อสังคมออนไลน์ในการพูดคุยสื่อสารความคิดทางการเมืองและบอกเล่ากิจกรรมของกลุ่มกับผู้คนอย่างเป็นธรรมชาติ ภาพเซลฟี่ของบูรฮานหรือคลิปวิดีโอที่เขากำลังหยอกล้อเล่นคริกเก็ตกับเพื่อนในกองทหาร ถูกปล่อยออกมาสลับสับเปลี่ยนกับคลิปวิดีโอที่เขากล่าวประณามการใช้ความรุนแรงของกองทัพอินเดียในแคชมีร์ หรือพูดปลุกเร้าในคนหนุ่มสาวเข้าร่วมกับกองกำลังปลดแอกแคชมีร์และการฟื้นฟูรัฐอิสลามคาลิฟาอยู่เป็นระยะๆ[4]

ภายในเวลาไม่นานบูรฮาน วานีได้กลายเป็นขวัญใจของประชาชนในพื้นที่และเป็นดั่งใบหน้าของกลุ่มฮิซบัลมุจญาฮิดีน (Hizb-ul-Mujahideen)  ในงานฝังศพของเขาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 ผู้คนจำนวนมากมายจากทั่วสารทิศหลั่งไหลเดินทางเข้ามาร่วมงาน โลงศพของบูรฮานถูกคลุมด้วยธงชาติปากีสถาน เสียงปืนยิงสลุตโดยกองกำลังปลดแอกแคชมีร์กลุ่มต่างๆ ดังกึกก้องไปทั่วเขตหุบเขาแคชมีร์เพื่อให้เกียรติแก่วีรบุรุษ หนึ่งอาทิตย์หลังจากนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงในเขตหุบเขาแคชมีร์และการปะทะต่อสู้ระหว่างกองกำลังปลดปล่อยกับกองทัพอินเดียก็ได้เริ่มต้นอีกครั้ง เด็กหนุ่มอายุ 22 ปีธรรมดาๆ คนหนึ่งได้กลายเป็นตำนานวีรบุรุษชาวบ้านและสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อเอกราชของแคชมีร์

Burhan Wani’s funeral ceremony Photo by Faisal Khan/Anadolu Agency/Getty Images

เพื่อชาติ ศาสนา และแคชมีร์

จากเรื่องเล่าชีวิตของบูรฮาน วานี เราเห็นได้ชัดถึงพลังของอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่หลอมรวมกับอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนา จนกลายเป็นแรงกระตุ้นให้เด็กหนุ่มที่มีอัตลักษณ์โน้มเอียงมาทางฆราวาสนิยมหันเหเข้าสู่วิถีทางของแนวคิดสุดโต่ง การหลอมรวมของอัตลักษณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นทั้งในระดับปัจเจกและระดับสังคม จริงอยู่ที่การถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อฤดูร้อนปี พ.ศ. 2553 เป็นชนวนสำคัญที่ทำให้อัตลักษณ์ความเป็นพลเมืองอินเดียของบูรฮานบางเบาลงและอัตลักษณ์ความเป็นชาวแคชมีร์กลับเด่นเจนขึ้น กระนั้น การแข่งขันทางการเมืองระหว่างอินเดียและปากีสถานที่มีมาตั้งแต่การแบ่งแยกประเทศเมื่อปี. พ.ศ. 2480 ก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อการต่อรองเชิงอัตลักษณ์ของแคชมีร์ด้วย

          แต่ไหนแต่ไรมา ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็อ้างสิทธิของตนเหนือแคชมีร์ ต่างฝ่ายต่างก็ใช้การต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ในการดึงแคชมีร์ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในภูมิรัฐศาสตร์ของตน

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความรุนแรงและสงครามอัตลักษณ์ระหว่างชาวมุสลิมกับชาวฮินดูในช่วงของการแบ่งแยกประเทศอินเดียและปากีสถานก็ทำให้ชาวแคชมีร์ซิกข์และชาวแคชมีร์ฮินดูไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนหากแคชมีร์จะเป็นรัฐอิสระ

ความไม่มั่นใจดังกล่าวเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้มหาราชาแห่งแคชมีร์ยอมลงนามผนวกดินแดนให้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียเป็นการชั่วคราว ด้วยอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่แคชมีร์เป็นส่วนหนึ่งของอินเดียนั้นจะทำให้แคชมีร์ดำรงความเป็นรัฐฆราวาสนิยมและจะได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากอินเดียหากมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น นอกเหนือไปจากที่จะทำให้ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามกลายเป็นประชากรส่วนน้อยในประเทศ

          ด้านปากีสถานนั้นก็ใช้อัตลักษณ์ความเป็นภราดรภาพมุสลิม (Muslim Brotherhood) กระตุ้นให้ชาวแคชมีร์มุสลิมกลุ่มหนึ่งให้ลุกขึ้นมาต่อต้านการตัดสินใจดังกล่าว กระทั่งสามารถแยกดินแดนส่วนหนึ่งออกมาเป็นจังหวัดอาซาดแคชมีร์ (Azad Kashmir) ของปากีสถานได้สำเร็จ นอกจากนี้แล้วเป็นที่รับรู้ว่ารัฐบาลปากีสถานก็ยังได้ให้ความช่วยเหลือกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของแคชมีร์กลุ่มต่างๆ มาตลอด[5] ทั้งกลุ่มมุสลิมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองที่โน้มเอียงมาทางปากีสถานอย่างกลุ่มจามัทอีอิสลามี กลุ่มฆราวาสนิยมที่เรียกร้องเอกราชของแคชมีร์อย่างสมัชชาแห่งชาติชัมมูและแคชมีร์ (Jammu & Kashmir National ConferenceJKNC)  กลุ่มชาตินิยมแคชมีร์ที่ใช้ความรุนแรงอย่างกองกำลังปลดปล่อยชัมมูและแคชมีร์  (Jammu and Kashmir Liberation Front – JKLF) หรือกองกำลังที่แตกแยกย่อยออกมาในภายหลัง ทั้งนี้เชื่อกันว่า กลุ่มฮิซบัลมูจาฮิดีนที่บูรฮาน วานีเป็นสมาชิกนั้นก็ได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน (Inter-Services Intelligence – ISI)[6]

การต่อสู่เชิงอัตลักษณ์ในแคชมีร์

การต่อสู่เชิงอัตลักษณ์ในแคชมีร์ทวีความซับซ้อนมากขึ้น ในยุคสงครามเย็นที่มีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญ ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2500 ถึง 2533 ปากีสถานถือเป็นมหามิตรและจุดยุทธศาสตร์สำคัญในเอเชียใต้ของโลกเสรีที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ เพื่อต้านทานการเผยแพร่อิทธิพลของสหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีนในภูมิภาคเอเชียใต้ สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินนโยบายให้ความสนับสนุนทางเศรษฐกิจและการทหารแก่ปากีสถาน โดยตั้งเป้าว่าจะใช้ปากีสถานเป็นฐานตั้งมั่นของตนในการฝึกฝนและให้การสนับสนุนองกำลังชนเผ่าเพื่อต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์

แนวร่วมอิสลามแห่งอัฟกานิสถานมุจญาฮิดีน (Islamic Unity of Afghanistan Mujahideen) ที่รวมกลุ่มขึ้นมา ในช่วงสงครามโซเวียต-อัฟกานิสถาน (พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2532) เป็นตัวอย่างสำคัญของกองกำลังชนเผ่าที่ได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านยุทโธปกรณ์และการฝึกฝนกองกำลังจากสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ (Central Intelligence Service – CIA ) ผ่านหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน (Inter-Services Intelligence – ISI) เพื่อร่วมรักษาเสถียรภาพและอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกเสรีในภูมิภาคเอเชียใต้เป็นสำคัญ[7]

          แต่ขณะเดียวกันก็ใช้อัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนามาเป็นแรงกระตุ้นเพื่อหลอมรวมผู้คนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชัยชนะของแนวร่วมอิสลามแห่งอัฟกานิสถานมุจญาฮิดีนในสงครามครั้งนั้น มีผลส่งให้อัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติศาสนาในเอเชียใต้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน

การเกิดขึ้นของกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในแคชมีร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 ทั้งกลุ่ม Jaish-e-Mohammad (JeM) กลุ่มLashkar-e-Taiba กลุ่ม Harkat-ul-Jihad-e-Islami กลุ่ม al-Badr หรือกลุ่มฮิซบัลมุจญาฮิดีนจาฮิดีน ล้วนสัมพันธ์กับการขยายอิทธิพลของกลุ่มมุจญาฮิดีนในอัฟกานิสถานและปากีสถาน

เมื่อวิถีการเมืองของกลุ่มจามัท-อี-อิสลามีไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่จะมอบอธิปไตยให้กับแคชมีร์ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่บูรฮาน วานีจะเข้าร่วมกับกองกำลังฮิซบัลมุจญาฮิดีนจาฮิดีนที่ใช้ความรุนแรงเพื่อแยกแคชมีร์ออกจากอินเดียและเพื่อสถาปนารัฐอิสลาม

ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติครั้งที่ 71 นายกรัฐมนตรีนาวาซ ชารีฟแห่งปากีสถานได้กล่าวถึงบูรฮาน วานีว่าเป็น “ผู้นำหนุ่มที่ถูกฆาตกรรมโดยกองกำลังอินเดีย” รวมทั้งยกย่องเขาว่าเป็น “สัญลักษณ์ของการลุกฮือเพื่ออิสรภาพของประชาชนชาวแคชมีร์ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งบุรุษและสตรี ผู้มีเพียงศรัทธาเป็นอาวุธและความหิวกระหายในอิสรภาพอยู่ในใจ”[8]

ร่างที่ไร้วิญญาณและเรื่องราวของเด็กหนุ่มได้กลายเป็นสมานกาย (embodiment) ของการต่อสู้เชิงอัตลักษณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์และทางเชื้อชาติศาสนาที่มีดินแดนและพลเมืองแคชมีร์เป็นเดิมพัน

The first anniversary of the death of rebel leader Burhan Wani in Islamabad on July 9, 2017. Photo credit should read FAROOQ NAEEM/AFP/Getty Images

Photo credit should read AAMIR QURESHI/AFP/Getty Images


[1] Ollapally, Deepa M. (2008) The Politics of Extremism in South Asia. Cambridge University Press: London & New York.
[2] Richards, Julian (2017) Extremism, Radicalization and Security: An Identity Theory Approach. Palgrave: London.
[3] https://www.greaterkashmir.com/article/news.aspx?story_id=222473&catid=2&mid=53&AspxAutoDetectCookieSupport=1
[4] https://qz.com/india/727911/kashmir-is-on-the-edge-after-the-death-of-22-year-old-militant-who-used-facebook-as-a-weapon/
[5] https://foreignpolicy.com/2019/02/15/pakistan-has-no-more-excuses-for-supporting-terrorism/
[6] http://www.spiegel.de/international/world/spiegel-interview-with-pervez-musharraf-pakistan-is-always-seen-as-the-rogue-a-721110.html
[7] Tom Lansford (2003). A Bitter Harvest: US Foreign Policy and AfghanistanAshgate Publishing, Ltd. ISBN 978-0-7546-3615-1
[8] https://www.hindustantimes.com/india-news/full-text-of-nawaz-sharif-s-speech-at-un-general-assembly/story-bdlcijC6NbfJgnjYupBBhN.html

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.