Notes on Nationalism

Notes on Nationalism

ธันย์ชนก รื่นถวิล
เรื่อง

Nation as a Subject of History

ประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับจินตนาการว่าด้วยความเป็นพลเมืองในรัฐชาติเดียวกันอย่างไร? ความเป็นชาติกับประวัติศาสตร์มีความสัมพันธ์อย่างแยกจากกันไม่ได้ กล่าวคือ ประวัติศาสตร์นั้นเป็นโครงสร้างของเรื่องเล่าที่ทำหน้าที่ในการค้ำชู“ความเป็นชาติ” ผ่านเรื่องเล่าต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ในสังคม ประกอบไปด้วยตัวละครหลักและตัวละครรอง ตัวประกอบ ที่ต่างกันไปขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้เล่า เช่น นิยามว่าด้วยความเป็นชาติไทยเองยังถูกเล่าผ่านโครงเรื่องทางประวัติศาสตร์จำนวน 6 สกุล[1] คือ สกุลดำรงราชานุภาพ สกุลหลวงวิจิตรฯ พวกฟื้นฟูลัทธิชาตินิยม พวกมาร์กซิสต์ พวกประวัติศาสตร์นิยม และพวกสังคมแบบเอเชีย  ซึ่งแต่ละแบบนั้นได้ให้นิยามว่าด้วยความเป็นชาติและองค์ประกอบที่มีจุดเน้น มุมมองต่างกันไปในรายละเอียด

เรื่องเล่าที่อยู่ในสังคมเหล่านี้ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า “สำนึกประวัติศาสตร์” ขึ้นมา ผ่านเรื่องเล่าน้อยใหญ่ที่กระจายตัวอยู่ในส่วนต่างๆ ของสังคมที่ปัจเจกหยิบเอามาประกอบร่างสร้างตัวตนของตนเอง แล้วเรื่องเล่าเหล่านี้อิทธิพลอย่างไรต่อความเป็นชาติ? เรื่องเล่าเหล่านี้ยังได้กลายมาเป็นจินตนาการที่ทำให้ปัจเจกมองเห็นตนเองในฐานะพลเมืองของชาติหนึ่งๆ ผ่านการผูกโยงตัวตนของตัวเองเข้ากับส่วนประกอบน้อยใหญ่ในเรื่องเล่า ไม่ว่าจะเป็นจินตนาการถึงความรุ่งเรืองของชาติในอดีต หรือภาพของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของรัฐชาติ จึงหลีกไม่พ้นที่หลายครั้งความเป็นชาติที่ว่าได้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระบบระเบียบในสังคมให้เกิดสามัคคี ความปรองดอง เพื่อชาติและความมั่นคงเสมอๆ 

หากเปรียบเปรยว่ารัฐชาติเป็นโรงละคร ประวัติศาสตร์จึงเปรียบเหมือนบทของละครที่จำเป็นจะต้องเขียนโครงเรื่องให้สมจริง

ชาติคืออะไร

ชาติในแง่หนึ่งได้สร้างสำนึกความเป็นหนึ่งเดียวกัน ความเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ผ่านการจัดการเรื่อง “อัตลักษณ์ของชาติ” (national identity) ทั้งวัฒนธรรม ประเพณี ไปจนถึงคุณลักษณะอื่นที่คนร่วมชาติพึงมีเหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ว่า ชาติเป็นหนึ่งในตัวการที่สำคัญที่สร้างความรู้สึกแบ่งแยก พวกเรา และ คนอื่น ออกจากกัน โดยที่ชาติมักสร้างขึ้นผ่านการคัดส่วนที่ใช้ได้และคัดทิ้งความจริงหลายส่วนออกไป จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการกดทับและเมินเฉยต่อความแตกต่างหลากหลายของเชื้อชาติ ศาสนา และความเป็นอื่นที่นอกเหนือไปจากพวกเรา คำถามที่สำคัญ คือ ความพยายามในการสร้างชาติให้เป็นที่นิยมนั้นนำเราไปสู่ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้จริงหรือไม่? หรือชาติได้กำลังแบ่งแยกพลเมืองของตนเองออกเป็นคนในและคนนอกกันแน่? อย่างเช่นตัวอย่าวความพยายามในการวางรากฐานสร้างความเป็นชาตินิยมในแบบของนายอู นุ ที่พยายามเชิดชูให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติของพม่าผ่านความพยายามในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดการทำสังคายนาพระไตรปิฎก การจัดตั้งคณะกรรมการพุทธศาสนาขึ้น ความพยายามเหล่านี้มีรากฐานมาจากกลุ่มที่มีอุดมการณ์พุทธศาสนา-ชาตินิยม (Ultra-Buddhist Nationalism)  ความพยายามในครั้งนั้นไม่เพียงแต่นำมาซึ่งความตึงเครียดระหว่างกลุ่มศาสนาในพม่าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ในพม่าด้วย ผลของความขัดแย้งและความรุนแรงยังคงสืบต่อมาถึงทุกวันนี้

หากเปรียบเปรยว่ารัฐชาติเป็นโรงละคร ประวัติศาสตร์จึงเปรียบเหมือนบทของละครที่จำเป็นจะต้องเขียนโครงเรื่องให้สมจริง ต้องคัดเลือกตัวละครที่น่าเชื่อถือที่ไม่เพียงแต่มีความสามารถในการแสดงเท่านั้น แต่ต้องรู้จักด้นสดในบางครั้งด้วย รวมทั้งต้องมีทำการตลาดอย่างแม่นยำเพื่อให้โดนใจคนดูซึ่งก็คือ พลเมือง ชาติจึงจะกลายเป็นที่นิยมติดตลาดขึ้นมาได้

ชาตินิยมคืออะไร?

ชาตินิยม (nationalism) นั้นถูกนำมาใช้ในการอธิบาย ทัศนคติของคนในชาติเมื่อพวกเขาให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของตนเองในฐานะสมาชิกของชาติ รวมทั้งการกระทำของสมาชิกในชาติหนึ่งๆ เพื่อให้ได้มาหรือคงไว้ซึ่งอำนาจสูงสุดทางการเมือง[2]

การปลุกปั่นกระแสชาตินิยมไม่ได้มีเพียงลักษณะการเชื่อมโยงอัตลักษณ์ของตนเองเข้ากับศาสนาเท่านั้น แต่ยังมีความพยายามเชื่อมโยงชาตินิยมเข้ากับภาษา เชื้อชาติ รวมถึงวัฒนธรรม ซึ่งความพยายามเหล่านี้มักก่อให้เกิดรอยร้าวระหว่างคนกลุ่มต่างๆ เป็นอันตราจากความพยายามยกให้เชื้อชาติ ศาสนาใดศาสนาหนึ่งมีสถานะเหนือกว่าจนนำไปสู่ความรุนแรง เช่นเดียวกับความเป็นพลเมืองหรือความรู้สึกของการเป็นคนร่วมชาติเดียวกัน เกิดขึ้นจากความพยายามในการสร้างจินตนการให้คนในชาติจินตนาการเห็นภาพของชาติ และทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับชาติไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการประกอบสร้างวาทกรรมว่าด้วย ความเป็นชาติ ที่แจกแจงรายละเอียด ภาษา วัฒนธรรม ข้อกำหนด คุณลักษณะพึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ต่างๆ ฯลฯ โดยอุดมการณ์ที่ว่าจะทำให้ประชาชนมองเห็นตนเอง รวมทั้งมองเห็นความสัมพันธ์ของตัวเองที่มีต่อรัฐ เมื่อมองเห็นความสัมพันธ์นั้นแล้วจะสามารถขยายไปสู่การทำให้พลเมืองมองเห็นตำแหน่งแห่งที่ของตนเองในฐานะพลเมืองร่วมชาติเดียวกันต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อ มุมมอง และระบบความคิดของพลเมืองเกี่ยวกับความเป็นชาติไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในอินเดียการสร้างรูปปั้นขนาดใหญ่ของผู้นำทางความคิดศาสนาฮินดู นำมาซึ่งความหวาดหวั่นใจต่อชาวมุสลิมได้อย่างไร การสร้างอนุสาวรีย์สาธารณะ (public monuments) อย่างเช่นการเปิดตัวของ ‘อนุสาวรีย์แห่งความเป็นหนึ่งเดียว’ (The Statue of Unity) ซึ่งเป็นรูปปั้นนาย  Sardar Vallabhbhai Patel ในรัฐคุชราต ของอินเดียซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของนายนเรนทรา โมดี ( Narendra Modi) ที่มีความพยายามในการสร้างภาพให้คนเห็นว่ากลุ่มศาสนาฮินดูนั้นเป็นคนกลุ่มใหญ่ของอินเดียมาโดยตลอด โครงการในการจัดสร้างอนุสาวรีย์นั้นไม่หยุดเพียงเท่านั้นยังมีโครงการที่จะสร้างอนุสาวรีย์ขนาดใหญ่เพื่อทำลายสถิติเดิมของรูปปั้นของนาย  Sardar Vallabhbhai Patel ในอนาคตได้แก่ อนุสาวรีย์รูปปั้นพระรามความสูงขนาด 725 ฟุตในอุตตรประเทศ หรืออนุสาวรีย์รูปปั้นศิวะจีมหาราช (Chhatrapati Shivaji Maharaj) ซึ่งเป็นกษัตริย์นักรบชาวฮินดูในมุมไบอีกด้วย

ความพยายามในการสร้างจินตนการให้คนในชาติจินตนาการเห็นภาพของชาติและทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับชาติไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านการประกอบสร้างวาทกรรมว่าด้วย ความเป็นชาติ ที่แจกแจงรายละเอียด ภาษา วัฒนธรรม ข้อกำหนด คุณลักษณะพึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ต่างๆ

Indulata Prasad[3] ได้ชี้ให้เห็นว่า อนุสาวรีย์นี้เป็นเสมือนการส่งสัญญาให้กับกลุ่มชาวมุสลิมและกลุ่มศาสนาอื่นให้รับรู้ถึงสถานะทางสังคมของตนเองในอินเดีย ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการสร้างอนุสาวรีย์นั้นสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ทางการเมืองอย่างชัดเจน  รวมทั้งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย ดูเหมือนว่าอนุสาวรีย์ที่ว่าแม้จะได้ชื่อว่ามุ่งสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่ามันกลับสร้างความหวาดหวั่นใจให้ผู้คนในสังคมเสียมากกว่า  

แม้กระทั้งในในศตวรรษที่ 21 นี้ที่มีเชื่อว่า ความท้าทายของชาตินิยมอยู่ที่การปะทะกันกับ ความเป็นพลเมืองโลก (global citizens) ที่มาพร้อมกับกระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ก่อให้เกิดเคลื่อนย้ายทั้งคนและทรัพยากรที่ข้ามพ้นไปจากขอบเขตความเป็นชาติไปแล้วนั้น แต่ A. Burcu Bayram[4] ชี้ให้เห็นว่าแม้ว่าการเติบโตขึ้นของกระแสโลกาภิวัฒน์จะมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นจุดจบของแนวคิดชาตินิยมแต่อย่างใด แม้ว่าจะมีผู้คนที่นิยามว่าตนเองเป็นพลเมืองโลก (global citizens) มากขึ้นแต่มันก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความชาตินิยมเลย ทั้งความเป็นพลเมืองโลกและความชาตินิยมกลับไปด้วยกันได้ดีเสียอีก ถึงแม้ว่าปัจเจกคนนั้นจะนิยามตนเองว่าเป็นพลเมืองโลก แต่พวกเขาก็ไม่ได้ปฏิเสธเอกลักษณ์ชาติ (National Identity) และยังคงพยายามและเลือกที่จะปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติตนเองก่อนเสมอ

ชาตินิยมยังคงก่อให้เกิดความรุนแรงมากมายในศตวรรษนี้ และความรุนแรงนั้นยังเป็นสิ่งสะท้อนความล้มเหลวของสังคมพหุวัฒนธรรม ราวกับว่าเรื่องของความเป็นพลเมืองโลกที่เกิดขึ้น เป็นเพียงนิยามที่เกิดขึ้นจากความพยายามในการนิยามตนเองให้เสมือนว่า ไร้ตัวตน (selfless) มีความสนใจกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่กว้างไกลกว่าขอบเขตประเทศตนเองก็จริง แต่การให้ความสนใจและลงมือทำนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เราอาจจะให้ความสนใจประเทศปัญหาผู้ลี้ภัยในต่างประเทศ แต่ในประเทศของตนเองเรากลับไม่รู้ว่า ผู้ลี้ภัยในประเทศตัวเองเป็นยังไง เป็นใคร มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร ประเทศของเราปฏิบัติต่อเขาอย่างไรบ้าง

ดังนั้นในนาม ชาตินิยม ยังคงก่อปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากมาย หนำซ้ำยังทวีความรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ ก่อให้เกิดทั้งการกีดกัน การเหยียดทางเชื้อชาติ การเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง หรือภาวะความสุดโต่งต่างๆ และที่สำคัญชาติยังคงเป็นอาวุธที่ถูกใช้ในการห้ำหั่น ทำลายคู่ต่อสู้ที่ทรงพลังเสมอมา แม้ว่ามันจะคับแคบเกินกว่าจะโอบรับความแตกต่างหลากหลายในปัจจุบันก็ตาม

ชาตินิยมยังมีความจำเป็นอยู่หรือไม่?
ชาติที่ทำให้ใครหลายคนยังคงไม่อาจกลับ “บ้าน” ของตัวเองได้


แหล่งอ้างอิง
[1] ชาญวิทย์ 2527,36-44 อ้างถึงใน ธงชัย วินิจจะกูล (2562)ออกนอกขนบประวัติศาสตร์ไทย สานักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน,19
[2] Stanford Encyclopedia of Philosophy https://plato.stanford.edu/entries/nationalism/#WhaNat
[3] Indulata Prasad (2019) Why giant statues of Hindu gods and leaders are making Muslims in India nervous https://theconversation.com/why-giant-statues-of-hindu-gods-and-leaders-are-making-muslims-in-india-nervous-112818
[4] A. Burcu Bayram (2017) Rise in globalism doesn’t mean the end for nationalists https://theconversation.com/rise-in-globalism-doesnt-mean-the-end-for-nationalists-81463

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.