ศรีลังกา: บาดแผลและหยดน้ำตาในเอเชียใต้

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง

ระเบิดได้จู่โจมโบสถ์ของเรา โปรดช่วยเรา หากสมาชิกในครอบครัวของคุณอยู่ที่นี่

นี่คือข้อความสั้น ๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านเฟสบุ๊คขณะที่โบสถ์เซอร์บัสเตียนถูกโจมตี

หลังจากเหตุการณ์การทำลายมัสยิดด้วยการบุกยิงในประเทศนิวซีแลนด์เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา  ส่งผลให้ผู้คนกว่า 50 ชีวิตล้มตายและบาดเจ็บกว่า 40 คน เหตุการณ์ความสลดก็เกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศศรีลังกาในวันอาทิตย์ที่ 21เมษายน  2562 ด้วยการวางระเบิดกว่า 8 จุด ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วเกือบ 300 รายซึ่งชาวต่างชาติประมาณ 35 คน รวม 11 ประเทศจากสหรัฐอเมริกา (หลายคน) อังกฤษ (5) จีน (1) ฮอลแลนด์ โปรตุเกส (1) อินเดีย (3) เดนมาร์ก (3) ตุรกี(2) และอื่น ๆ (9)

เหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน ซึ่งมีชาวญี่ปุ่นร่วมอยู่ด้วย จนรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ดังกล่าว แม้สถานที่ทั้งสองที่เกิดขึ้นจะต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การก่อเหตุในพื้นที่ศาสนสถานและผู้คนกำลังร่วมพิธีกรรมทางศาสนาไม่ต่างกัน

เหตุการณ์ในครั้งนี้เกิดขึ้นขณะที่ชาวคริสต์กำลังเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาในโบสถ์ ซึ่งตรงกับวันอีสเตอร์ (Easter Day) หรือเป็นวันที่คริสต์ศาสนิกชนเชื่อว่า “เป็นวันสำคัญที่สุดของชาวคริสต์เพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซู” เทศกาลดังกล่าวมีระยะเวลา 40 วัน เริ่มตั้งแต่วันปาล์มซันเดย์ – Palm Sunday) ซึ่งชาวคริสต์ จะต้องตั้งจิตอธิษฐานรำลึกเหตุการณ์อันทรมานของพระเยซูตามพระคัมภีร์ มุ่งเน้นสวดภาวนา บริจาคสิ่งของ อดอาหาร ตลอดจนไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยและดำเนินชีวิตอย่างสมถะ

ชาวคริสต์ยึดเอาวันอาทิตย์ของแรกหลังพระจันทร์เต็มดวงของเดือนเมษายนเป็นตัวกำหนด กิจกรรมคร่าวๆ ในวันนี้คือ การเฉลิมลอง ส่งมอบความสุขให้แก่กัน มีการรับประทานอาหารร่วมกัน ซึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้ในการเฉลิมฉลองคือ ไข่

“ไข่อีสเตอร์” หรือ “ไข่ปัสกา” เพื่อสื่อถึงชีวิตที่กำลังเริ่มต้น การเกิดใหม่ หรือสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ซึ่งชาวคริสต์จะแต่งลวดลายไข่ให้สวยงาม และนิยมกินไข่ในวันดังกล่าว แน่นอน การกินไข่นั้นหมายถึง ชีวิตจะได้พบเจอสิ่งใหม่ ๆ นั่นเอง

กระนั้น วันแห่งความสุขกลับต้องจบลงด้วยการถูกโจมตี
Photo credit : BBC

เริ่มต้นจากการจู่โจมช่วงเวลา 8:45 เวลาท้องถิ่นศรีลังกา จากห้องอาหารในโรงแรมแชงกรีลา  (Shangri-La hotel) และโรงแรมคิงส์บูรี  (Kingsbury hotel)  หลังจากนั้น โรงแรมโคลัมโบชินนามอน แกรนด์ (Colombo’s Cinnamon Grand Hotel) แรงระเบิดในประเทศศรีลังกาครั้งนี้ได้ทำลายศาสนสถานและโรงแรม อย่างน้อย 45 คนที่ได้เสียชีวิตในกรุงโคลัมโบ (Colombo) หลังจากนั้นคือ โบสถ์เซนท์แอนโทนี (St Anthony’s Church) ถูกโจมตี ซึ่งบาดเจ็บกว่า 160 คน และอีก 67 คนเสียชีวิต หลังจากนั้นคือ การโจมตีโบสถ์เซอร์บัสเตียน  (St Sebastian) ณ เมืองเนกัมโบ (Negombo) ทางตอนเหนือของเมืองหลวง ส่วนอีก 25 คน เสียชีวิตและโบสถ์ไซออน ในเมืองบัลติคาร์โล (Batticaloa) ทางตะวันออกของประเทศก็ถูกโจมตีเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ผู้บาดเจ็บเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเมืองดังกล่าวกว่า 300 คน หลังจากนั้นมีการโจมตีมัสยิดและลอบวางเพลิงเพื่อต่อต้านชาวมุสลิมในช่วงกลางคืนอีกรอบหนึ่ง

Photo credit : JEWEL SAMAD/AFP/Getty Images
Photo credit : Tharaka Basnayaka/Bloomberg via Getty Images

หลังเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ออกมาประกาศว่า “เป็นการกระทำของผู้ก่อการร้าย” ในขณะรานิล วิกรามาสิงหะ (Ranil Wickremesinghe) นายกรัฐมนตรีของศรีลังกา พยายามปฏิเสธและชี้ชัดถึงการกระทำของกลุ่มไหนเป็นการเฉพาะ ส่วนทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวว่า “การก่อการในครั้งนี้มีชาวศรีลังกากว่า 13 คนมีส่วนในร่วมและเป็นการทำงานร่วมกับกลุ่มก่อการต่างชาติ”

ในพื้นที่ดังกล่าวมีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มติดอาวุธทมิฬกับรัฐบาล ส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองมาอย่างยาวนานและจบลงในปี 2009 ปัจจุบันมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่โดยเฉพาะกลุ่มชาวมุสลิมกับชาวพุทธ ซึ่งในช่วงเดือนมีนาคมของปี 2561 มีการปะทะและต่อต้านกลุ่มชาวมุสลิมในศรีลังกา ส่งผลให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 12 วัน ขณะชาวคริสต์ก็มีความขัดแย้งกับกลุ่มชาวพุทธสุดโต่งเช่นเดียวกัน

ไม่ต่างจากรูวัน วิเจวาดิน (Ruwan Wijewardena) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำเสนอว่า เหตุการณ์ในครั้งนี้เป็นฝีมือของกลุ่มที่มีแนวคิดศาสนาสุดโต่งที่หมายก่อการโบสถ์เมื่อช่วง 10 วันที่ผ่านมา ซึ่งมีสัญญาณเตือนจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเฝ้าระวังการก่อเหตุโดยกลุ่มชาวมุสลิม ชื่อ NTJ: National Thowheeth Jama’ath ซึ่งเคยวางแผนการก่อเหตุในโบสถ์มาก่อนหน้านี้

กระนั้นเหตุการณ์ในครั้งนี้ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นฝีมือของใคร

แต่ที่รู้คือ ความรุนแรงในทศวรรษนี้มักมุ่งเป้า “ศาสนสถาน” ของแต่ละศาสนาเป็นหลัก แน่นอน ผู้เสียชีวิตส่วนมากในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนเมษายนของปี 2562 นี้ คือ ผู้ประกอบศาสนกิจในสถานปฏิบัติธรรม การสูญเสียครั้งนี้จึงหดหู่และน่ากลัว

หรือการโจมตีในทศวรรษนี้จะ “พุ่งเป้า” มาที่ “สถานปฏิบัติธรรม” อย่างที่เกิดขึ้นและเห็นชัดในปัจจุบัน

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.