“จัมมูและแคชเมียร์” สถานะและความเป็นไปในแผ่นดินอินเดีย

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง

รัฐจัมมูและแคชเมียร์นั้นมีความเป็นพิเศษอย่างไม่รู้จบในฐานะรัฐที่มีเมืองหลวง 2 แห่งในรอบปีมาโดยตลอดจนกระทั่งปี 2017 กล่าวคือ แต่ละปีนั้นจะมีการย้ายเมืองหลวง 2 ครั้ง ซึ่งตรงกับช่วงฤดูร้อนของรัฐ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม จะมีการเปิดทำการเมืองหลวงของรัฐประจำกรุงศรีนากัร ส่วนช่วงฤดูหนาว ตรงกับพฤศจิกายน-เมษายนจะทำการย้ายเมืองหลวงไปยังจัมมู นอกจากนี้ยังมีศาลและส่วนราชการอื่น ๆ ก็ทำการย้ายสถานที่ทำงานเช่นเดียวกัน

จากเดลีถึงแคชเมียร์: ระยะเปลี่ยนผ่านของ 370 และ 35A

รัฐ2 เมืองหลวงและความสุนทรีย์แห่งเมืองตากอากาศของจัมมูและแคชเมียร์เริ่มเปลี่ยนไป หลังจากรัฐบาลอินเดียส่งกองกำลังทหารกว่า 35,000 คนเพื่อตรึงพื้นที่ แล้วเริ่มมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์และห้ามมีการชุมนุมในที่สาธารณะ ปรากฏการเหล่านี้คือ “การบ่งบอกถึงสถานภาพเขตปกครองพิเศษของจัมมูและแคชเมียร์ที่เคยมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองและสามารถออกกฎหมายนั้นสิ้นสุดลง”

วันที่ 5 สิงหาคม 2562 รัฐบาลอินเดียได้เสนอโดยให้ย้ายสถานะของเมืองจัมมูและแคชเมียร์ไปสู่ “ดินแดนสหภาพ” ตามอำนาจของราม นาถ โกวินท์ (Ram Nath Kovind) ประธานาธิบดีอินเดียและส่งผลให้กฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 370 และ 35 A ของรัฐธรรมนูญอินเดียนั้นถูกยกเลิกไปในที่สุด

แน่นอนการตัดสินใจครั้งนี้ของรัฐบาลอินเดียส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากมายในประเทศ เพราะจัมมูและแคชเมียร์ “หมดสถานะพื้นที่เขตปกครองพิเศษ” ในอินเดีย ซึ่งมีกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นของตนเอง นั่นก็คือ “กฎหมายรัฐธรรมของรัฐจัมมูและแคชเมียร์” ซึ่งเริ่มใช้เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 1956 และประกาศบังคับใช้เมื่อ 26 มกราคม 1957

ในกฎหมายรัฐธรรมนูญอินเดียมาตรา 35A ให้อำนาจจัมมูและแคชเมียร์มีสิทธิพิเศษต่อประชาชนผู้มีถิ่นฐานถาวรในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีสภานิติบัญญัติเพื่ออกกฎหมายรองรับสิทธิและผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ เช่น สิทธิแห่งความเป็นพลเมืองของจัมมูและแคชเมียร์  สิทธิการเป็นเจ้าของที่ดิน สิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ รวมถึงชาวอินเดียภายนอกไม่สามารถซื้อที่ดินในรัฐจัมมูและแคชเมียร์ได้

การยกเลิกกฎหมายในครั้งนี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของจัมมูและแคชเมียร์ไปอย่างรวดเร็วแบบสายฟ้าแลบ ซึ่งรัฐจัมมูและแคชเมียร์เป็นกลายเป็น “ดินแดนสหภาพ” และนอกจากนี้ยังแยกพื้นที่เขตเมืองลาดักห์ออกเป็น “ดินแดนสหภาพ” เช่นเดียวกัน  กระนั้นสถานภาพของ 2 พื้นที่นี้ก็ยังมีความแตกต่างกันพอสมควรนั่นก็คือ

1. จัมมูและแคชเมียร์ (Jammu and Kashmir)

ถือเป็นพื้นที่สำคัญในประวัติศาสตร์การสร้างชาติอินเดียตลอดระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ยกเลิกสถานะเดิมของจัมมูและแคชเมียร์ผ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 370 และ 35A เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ปัจจุบันรัฐจัมมูและแคชเมียร์ก็มีสถานภาพเป็น “ดินแดนสหภาพ” และสามารถมีนิติบัญญัติเป็นของตนเองได้ไม่ต่างจากเดลี (National Capital Territory of Delhi) และพอนดูเชอรี (Pondicherry) ซึ่งแน่นอนรัฐจัมมูและแคชเมียร์สามารถมีฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นของตนเอง พร้อมทั้งมีการจัดการเลือกตั้งและมีรัฐบาลท้องถิ่นได้

2. ลาดักห์ (Ladakh)

ลาดักห์ได้รับสถานะใหม่เป็น “ดินแดนสหภาพ” เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 ซึ่งแยกออกมาจากรัฐจัมมูและแคชเมียร์เดิม กระนั้นสถานะก็ต่างจากจัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งไม่มีสภานิติบัญญัติภายในดินแดนสหภาพของตนเอง

รัฐและดินแดนสหภาพต่างกันอย่างไร

รัฐ (Sate) คือ สถานะเขตปกครองท้องถิ่นทั่วไปในประเทศอินเดียซึ่งปัจจุบันมี 28 รัฐ แต่ละรัฐก็จะมีการจัดการเลือกตั้งในเขตพื้นที่ของตนเอง มีรัฐบาลประจำรัฐ ระบบการบริหารจัดการนั้นขึ้นตรงกับมุขมนตรี (Chief Minister) มาจากการเลือกตั้งระดับรัฐ ส่วนผู้ว่าการรัฐ (Governor) นั้นได้รับอำนาจโดยตรงมาจากประธานาธิบดี

สำหรับดินแดนสหภาพ (Union Territory) นั้นก็คือพื้นที่รัฐ แต่อำนาจการปกครองนั้นไม่มีสถานะเป็น “รัฐ” แต่จะมีสถานะเป็น “ดินแดนสหภาพ” ซึ่งอำนาจในการปกครองนั้นมาจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก ในพื้นที่นั้นมีรองผู้ว่าการรัฐ (Lieutenant Governor) เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหารประจำดินแดนสหภาพ ซึ่งเป็นตัวแทนของประธานาธิบดีและถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาลกลาง ปัจจุบันประเทศอินเดียมีพื้นที่ดินแดนสหภาพประมาณ 9 แห่ง ปกติดินแดนสหภาพนั้นจะไม่มีรัฐบาลเป็นของตัวเอง ไม่มีสมาชิกวุฒิสภา เว้นแต่พื้นที่พิเศษเพียง 3 เขตคือ จัมมูและแคชเมียร์ เดลีและพอนดูเชอรี ซึ่งทั้งสามสถานที่นี้จะมีรัฐบาลท้องถิ่นและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นของตัวเอง ซึ่งสมาชิกรัฐบาลท้องถิ่นและมุขมนตรีแห่งรัฐนั้นมีการเลือกตั้งเป็นของตนเอง พูดง่ายก็คือ 3 ดินแดนสหภาพนี้ได้รับสิทธิใน “การเลือกตั้งตัวแทนและรัฐบาลท้องถิ่นได้ด้วยตัวเอง”

หลังจากปี 1956 มีการก่อตั้งเป็นพื้นที่ “รัฐสำหรับอินเดีย” กระนั้นก็ยังมีพื้นที่ที่ไม่สามารถยกระดับเป็นรัฐได้เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่างจนในที่สุดก็กลายเป็นพื้นที่ดินแดนสหภาพ ซึ่งถูกกำหนดเอาไว้สำหรับพื้นที่พิเศษที่อาจมีความเสี่ยงต่อความมั่นคง ระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแอ ปัญหาความขัดแย้ง ระบบการเมืองไร้เสถียรภาพ รวมถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการแบ่งแยกดินแดนซึ่งรัฐบาลอินเดียมองว่า “สมควรดูแลพื้นที่เหล่านี้โดยตรงจากรัฐบาล”

ดินแดนสหภาพแห่งแรกของอินเดียคือ หมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะนิโคบาร์ (Andaman and Nicobar island) และมีดินแดนสหภาพอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก่อนหน้านี้คือ ดาดราและนครหเวลี (Dadra and Nagar Haveli) จันดิการ์ (Chandigarh) ดามันและดีอู (Daman and Dui) ทะเลแลกคาดิฟ (Lakshadweep)และ ลาดักห์ (Ladakh) (India Today, 2019) ดินแดนสหภาพทั้งหมด อยู่ภายใต้สถานภาพของกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตราที่ 240 ซึ่งระบุถึงสภานะของดินแดนสหภาพนั้นจะต้องไม่มีฝ่ายติบัญญัติเป็นของตนเองและอำนาจทั้งหมดมาจากรัฐบาลด้วยการสั่งการของประธานาธิบดี ยกเว้น 3 เขตที่ได้กล่าวมาข้างต้น (India Today, 2019)

ปะทุแคชเมียร์ด้วยการยกเลิกมาตรา 370

รัฐบาลอินเดียในนามพรรคภาร์ตติยะชะนะตะ (BJP) ได้โอกาสในการถอนรากถอนโคนสิทธิพิเศษของอินเดียที่ได้รับมาอย่างยาวนานหลังจากการเป็นเอกราชจากอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งมีเหตุผลดังนี้  

1. รักษาความเสถียรภาพและความมั่นคงภายในรัฐโดยเฉพาะความเสี่ยงของประเทศที่ต้องเผชิญกับความไม่สงบมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษในปี 1947 อินเดียมีปัญหาสำคัญคือ เรื่องการก่อการร้ายที่พยายามคุกคามเสถียรภาพของอินเดียมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตรัฐจัมมูและแคชเมียร์ อมิต ชาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 มีใจความว่า

“พึงตระหนักเสมอว่า ความมั่นคงภายในของรัฐนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หน่อเชื้อแห่งการก่อการร้ายริมพรมแดนที่กำลังดำรงอยู่ในรัฐจัมมูและแคชเมียร์นั้น เป็นเหตุผลสำคัญในการเกิดดินแดนสหภาพขึ้นเพื่อบั่นทอดภัยคุกคามเหล่านั้น” (K. Venkataramanan., 2019)

2. เพื่อความง่ายดายในการดำเนินการในพื้นที่เสี่ยงต่อปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เพราะก่อนหน้านี้ รัฐจัมมูและแคชเมียร์มีสถานะพิเศษ ซึ่งยากต่อการจัดการ โดยเฉพาะกรณีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและปัญหาความมั่นคงระหว่างพรมแดน กระนั้นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวหมายถึงการย้ายฐานอำนาจเดิมในทางการเมืองการปกครองมาสังกัดและขึ้นตรงกับรัฐบาลกลาง ซึ่งง่ายต่อการควบคุมซึ่งผ่านการจัดการโดยตรงของประธานาธิบดีอินเดีย

3. เพื่อสร้างความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในพื้นที่ กรณีข้อขัดแย้งต่าง ๆ ซึ่งสามารถดำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมได้ โดยเฉพาะกรณีของเด็กและสตรี นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายโอกาสและยกระดับเรื่องปากท้องของผู้คนในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาความยากจน เพราะปัจจุบันระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนมากถูกผูกขาดโดยกลุ่มทุนและนักการเมืองท้องถิ่น ตลอดจนผู้มีแนวคิดสุดโต่งในพื้นที่ นอกจากนี้ยังถือเป็นการช่วยเหลือผู้คนรับมือและเอาชนะกลุ่มผู้ก่อการร้ายด้วย

4. เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นและความเท่าเทียมของผู้คนในชาติ ซึ่งรัฐไม่จำเป็นต้องให้สถานะพิเศษแก่พื้นที่หนึ่งพื้นที่ใดภายใต้นิยามแห่งคำว่าชาตินั่นก็คือหนึ่งชาติ หนึ่งธง” (One Nation One Flag) (The Hindu 2019)

ผลกระทบและอนาคตของแคชเมียร์

1. กฎหมายของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ได้ถูกยกเลิกไป ส่งผลให้ดินแดนดังกล่าวต้องเปลี่ยนสถานะมาอยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลกลางของอินเดีย ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ต่างจากดินแดนสหภาพและรัฐอื่นในประเทศ (India Today 2019) ซึ่งดิเนช ชาร์มา (Dinesh Sharma) รองมุขมนตรีของรัฐอุตตรประเทศ (Uttar Pradesh Deputy Chief Minister) ได้กล่าวว่า

“ผลการพิจารณาดังกล่าวถือเป็นเช้าวันใหม่ของชาวจัมมูและแคชเมียร์เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า พรรคครองเกรสอินเดียนั้นได้ดำเนินนโยบายผิดพลาดมากว่า 70 ปี โดยเฉพาะการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างชาวแคชเมียร์กับคนอื่นในอินเดีย เพื่อดำรงไว้ความเป็นปึกแผ่นของอินเดีย วันนี้จึงถือเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลอง ตอนนี้ทุกภาคส่วนของประเทสมีความเท่าเทียมกัน เพราะการยกเลิกสถานะพิเศษของจัมมูและแคชเมียร์นั้นถือเป็นผลประโยชน์แห่งชาติ”

2. กฎหมายที่ดินนั้นได้เปลี่ยนไปเพราะบุคคลภายนอกสามารถซื้อที่ดินในเขตพื้นที่ของจัมมูและแคชเมียร์ได้

3. เปิดโอกาสให้นักลงทุนและโครงการพัฒนาต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ได้โดยง่ายกว่าที่ผ่านมา ซัญญาน ญินดัล (Sajjan Jindal) นักธุรกิจชาวอินเดียได้นำเสนอว่า

“จัมมูและแคชเมียร์จะเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาสำหรับอินเดีย”

ฮาร์ช โกเอนกา (Harsh Goenka) นักลงทุนคนสำคัญของอินเดียได้กล่าวว่า

“การยกเลิกมาตราที่ 370 ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของชาวอินเดีย เราคือหนึ่งในนักลงทุนในพื้นที่แคชเมียร์ในช่วงปี 1980 ขระที่พ่อของเราได้ตั้งโรงงาน 2 แห่งในพื้นที่ดังกล่าว ท่านได้เพาะพันธุ์เม็ดทิวลิปซึ่งนำมาจากฮอลแลนด์ พื้นที่ดักงล่าวได้เปิดออกมาอีกครั้งเพื่อรองรับการพัฒนา การสร้างงานและการท่องเที่ยว” (Piyush Pandey 2019)

4. กลุ่มบัณฑิตเดิมที่เคยอยู่ในพื้นที่จัมมูและแคชเมียร์ ซึ่งย้ายออกไปเมื่อปี 1999 สามารถกลับมายังสถานที่แห่งนี้ได้ ฟาติมะฮฺ บาโน (Fatima Bano) ประชาชนชาวแคชเมียร์ได้สะท้อนให้เห็นว่า

“ไม่มีใครมั่นใจได้ว่า การยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 370 นั้นจะทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงนั้นสิ้นสุดลง ทว่าสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนเชื่อนั่นก็คือ กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวช่วยในการขวางการกลับเข้ามาในพื้นที่ของคนนอกที่สามารถซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในดินแดนเหล่านี้ได้ รวมถึงการยกเลิกกกหมายมตราดังกล่าวหมายถึง การหวนคืนพื้นที่เดิมของกลุ่มบัณฑิตแคชเมียร์ที่เคยอพยพออกไป เพราะพวกเขามีรกรากอยู่ในสถานที่แห่งนี้มาหลายพันปี”

5. ดินแดนส่วนที่เป็นของจัมมุและแคชเมียร์นั้น มีเมืองลาดักห์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งการยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ ส่งผลให้ลาดักห์มีสถานภาพใหม่นั่นก็คือ ดินแดนสหภาพ ซึ่งแยกออกจากจัมมูและแคชเมียรืเป็นการถาวร(India Today 2019) แน่นอนการดำเนินการดังกล่าวนั้นถือเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ โดยเฉพาะ จัมยัง เทอร์ริง นามยาล (Jamyang Tsering Namgyal) สมาชิกรัฐสภาของอินเดียแห่งเมืองลาดักห์ ในนามพรรคภาร์ตติยะชะนะตะ (BJP) ได้นำเสนอว่า

“ถือเป็นการปฏิบัติการอันชาญฉลาดเพื่อพัฒนาพื้นที่และขับเคลื่อนเรื่องของความมั่นคงพื้นที่ชายแดนของประเทศ การกระทำดังกล่าวถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะและช่วยในการพัฒนาพื้นที่จัมมู แคชเมียร์และลาดักห์ ให้หลุดพ้นจากการครอบงำของสองตระกูลการเมืองอย่างอับดุลลอฮฺและมุฟตี เพื่อเพิ่มให้เป็นผลประโยชน์ของชาวแคชเมียร์อย่างแท้จริง” (The Hindu 2019)

6. ลาดักห์รู้สึกปลอดภัยและปลอดพ้นจากภัยคุกคามมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากลาดักห์เป็นเมืองพุทธของกลุ่มชนส่วนใหญ่ ซึ่งปัญหาเรื้อรังและความรุนแรงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีผลมาจากมุสลิมในจัมมูและแคชเมียร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการท่องเที่ยวในลาดักห์ ซึ่งผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากธุรกิจการท่องเที่ยว ในเมืองลาดักห์ส่วนใหญ่คือ ชาวแคชเมียร์

7. ปากีสถานพยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการเพราะปากีสถานยืนยันว่า ชาวแคชเมียร์นั้นโดยตัดสิทธิพิเศษของพวกเขาในพื้นที่ที่พวกเขานั้นได้มากว่า 70 ปี ซึ่งแน่นอน การยกเลิกกฎหมายดังกล่าวนั้นหมายถึงการยกเลิกสิทธิของชาวแคชเมียร์ ซึ่งหมายถึงเป็นการเปิดพื้นที่และให้โอกาสคนนอกเข้ามาทำงานข้างในอาจเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและอื่น ๆ ผู้หญิงชาวแคชเมียร์จะไม่เสียสิทธิ์หากมีการแต่งงานกับคนนอกรัฐ ในประเด็นนี้

“ปากีสถานจะพยายามทุกช่องทางในการตอบโต้อินเดียและจะอยู่เคียงข้างประชาชนชาวแคชเมียร์ในการต่อสู้กับอินเดีย”

พลเอกกอมัน จาเว็ด บัจวา (Gen Qamar Javed Bajwa)

“พวกเราเตรียมความพร้อมทุกวิถีทางเพื่อที่จะช่วยเหลือแคชเมียร์” (Rebecca Ratcliffe 2019)

8. จีนออกมาประณามการกระทำดังกล่าวและไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกสถานะของแคชเมียร์ ในขณะอินเดียก็โต้กลับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ” แน่นอน จีนไม่เห็นด้วยกับการยกระดับให้ลาดักห์เป็นเมืองใต้การกำกับการดูแลของรัฐบาลอินเดียโดยตรง เพราะอาจทำให้จีนเสียผลประโยชน์ริมชายแดนบางอย่าง  

9. อัตลักษณ์เดิมของการเป็นมุสลิมนั้นอาจถูกคุกคามจากนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล ซึ่งในประเด็นนี้ฟารุก อะหมัด ชาห์ (Farooq Ahmad Shah) ประชาชนชาวแคชเมียร์ได้สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านครั้งดังกล่าวว่าเป็น “กงล้อความรุนแรงระลอกใหม่” เพราะพวกเขามองว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งดังกล่าว นอกจากปรับสถานะของตนแล้ว ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนอัตลักษณ์และบริบทของชาวมุสลิมในพื้นที่อีกด้วย (The Hindu 2019) ในทางกลับกัน อาฮิช ชูฮาน (Ashish Chauhan) ได้กล่าวว่า

“ถือเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ของประเทสอินเดียและประชิปไตยอินเดียถือเป็นวันแห่งการรวมกันของอินเดีย และแน่นอน นี่คือเวลาแห่งการรวมแคชเมียร์กับผู้คนส่วนอื่น ๆ ในประเทศ คนหลายล้านคนต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย  ตลอดจนสมาชิกรัฐสภาที่ได้พยายามสร้างประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่นี้” (Piyush Pandey 2019)

แผ่นดินอินเดียคือ รากเหง้าของอารยะธรรมและขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งแน่นอน บนพื้นที่ของความแตกต่างทางด้านพหุวัฒนธรรมนั้นก็อาจมีปัญหามากมายที่ต้องจัดการ เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาหรือข้อขัดแย้งใหม่สำหรับอินเดียแต่อย่างใด ทว่ามันคือ “ระเบิดเวลาที่อังกฤษทิ้งไว้เพื่อให้ระลึกถึงและดูต่างหน้า”

แม้บาดแผลและความยืดเยื้อของปัญหาดังกล่าวอาจเกี่ยวกับข้องกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างปากีสถาน ทว่า ครั้งนี้ อินเดียเลือกที่จะจัดการปัญหาข้างในของตนเองและบอกให้โลกรู้ว่า “นี่คือ ปัญหาความมั่นคงภายใน” ที่ตนเองต้องจัดการให้แล้วเสร็จ แม้หลายคนอาจเชื่อว่า “แนวทางยกเลิกกฎหมายมาตรา 370 ในพื้นที่แคชเมียร์อาจไม่ใช่การจบสิ้นของปัญหาความรุนแรง ความขัดแย้งและการก่อการร้ายริมพรมแดน

กระนั้น ในนาม “รัฐ” ก็สมควรแก่การหาทางออกความรุนแรงได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งอินเดียก็ยังเชื่อลึก ๆ ว่า “นี่คือวิธีการจัดการที่ดีที่สุดสำหรับปัญหาริมพรมแดน” ในเวลานั้น

ส่วนที่เหลือ ก็คงต้องฝากไว้กับเช้าวันใหม่ ที่มาพร้อมกับแสงตะวันแห่งความหวัง ซึ่งทุกคนต่างสัมผัสได้ สันติภาพริมชายแดนในจัมมูและแคชเมียร์ก็หวังทอประกายขึ้นมาไม่ต่างกัน


อ่านเพิ่มเติมใน
– India Today. (2019). What is the difference between a state and a union territory?. August 5. 2019. https://www.indiatoday.in/education-today/gk-current-affairs/story/what-is-the-difference-between-a-state-and-an-union-territory-1577445-2019-08-05
– India Today. (2019). J&K to be a union territory with legislature, Ladakh to be without: What is the difference?. August 5, 2019. https://www.indiatoday.in/education-today/gk-current-affairs/story/j-k-ladakh-union-territory-with-without-legislature-difference-1577432-2019-08-05
– K. Venkataramanan. (2019). Explained | How the status of Jammu and Kashmir is being changed. The Hindu. August 6, 2019. https://www.thehindu.com/news/national/other-states/explained-how-the-status-of-jammu-and-kashmir-is-being-changed/article28822866.ece
– The Hindu. (2019). J&K bifurcation: Ladakh MP hails Union Territory status. August 5, 2019. https://www.thehindu.com/news/national/jk-bifurcation-ladakh-mp-hails-union-territory-status/article28825013.ece
– Piyush Pandey. (2019). Business leaders say amending Article 370 will attract big investments in Jammu and Kashmir. The Hindu. August 5, 2019 https://www.thehindu.com/business/Industry/industry-leaders-say-amending-article-370-will-attract-big-investments-in-jammu-and-kashmir/article28825495.ece
– The Hindu. (2019). We have lost our identity, say people of Kashmir as government scraps Article 370. August 5, 2019. https://www.thehindu.com/news/national/we-have-lost-our-identity-say-people-of-kashmir-as-government-scraps-article-370/article28824520.ece
– Rebecca Ratcliffe. (2019). Kashmir: Pakistan will ‘go to any extent’ to protect Kashmiris. August 6, 2019. https://www.theguardian.com/world/2019/aug/06/india-kashmir-pakistan-will-go-to-any-extent-to-protect-kashmiris-special-status

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.