ศรีลังกา: ความ “น่าจะเป็น” และความเป็นไปที่ “น่าจะห่วง”

ดร. อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม
นักวิจัยประจำศูนย์เอเชียใต้ศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เรื่อง

อัพเดทสถานการณ์ความรุนแรงในศรีลังกา

“ผู้ก่อการร้าย ไม่มีสังกัดความเชื่อของศาสนา สิ่งหนึ่งที่ศรีลังกาทำได้ ณ ตอนนี้คือ ให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะ “ความเป็นหนึ่งและความสามัคคีทางด้านศาสนา” เพื่อต่อต้านแนวคิดการก่อการร้ายสากล หากเราไม่ระมัดระวังในประเด็นเหล่านี้ แน่นอนประเทศเราจะลุกเป็นไฟอย่างที่เคยเกิดขึ้นระหว่างสิงหลและทมิฬในอดีต”

นายกรัฐมนตรีศรีลังกา, 23 เมษายน 2562, Adaderana News.

การจูโจมในทศวรรษนี้ เริ่มหันเหและมุ่งเป้าไปยังสัญลักษณ์แห่งศาสนาเพื่อแบ่งแยกความชังให้ชัดเจน

ศรีลังกาก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีภาพรอยต่อของจิกซอร์ความรุนแรง ซึ่งไม่ต่างจากนิวซีแลนด์ ทั้งสองสถานที่นี้ ถูกโจมตีโดยการมุ่งเป้าไปยัง “ศาสนสถาน” ซึ่งแน่นอน เมือเป็นเช่นนั้น ความเสี่ยงในทศวรรษใหม่นั่นก็คือ “สถานประกอบพิธีกรรมทางศาสนา”

หลังการก่อเหตุใน “วันอีสเตอร์” ซึ่งตรงกับ 21 เมษายน 2562 ภาพความรุนแรงโดยสารศรีลังกาไปยังสถานีแห่งความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อ ยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจนเกือบ 321 รายซึ่งชาวต่างชาติประมาณ 38 คนรวม 11 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา (4) อังกฤษ (8) จีน (2) ฮอลแลนด์ โปรตุเกส (1) อินเดีย (8) สเปน (2) ซาอุดิอาราเบีย (2) เดนมาร์ก (3) ตุรกี(2) และอื่น ๆ (9) นอกจากนี้ยังมีเด็กที่เสียชีวิตประมาณ 50 คน

เหตุการณ์ในครั้งนี้มีผู้บาดเจ็บกว่า 500 คน ซึ่ง 375 คนยังอยู่โรงพยาบาล มีชาวต่างชาติกว่า 17 คน ซึ่งชาวญี่ปุ่นร่วมอยู่ในกลุ่มผู้บาดเจ็บด้วย จนรัฐบาลได้ประกาศ “สภาวะฉุกเฉิน” ในพื้นที่ดังกล่าว (AlJazeera, 2019)

แรงระเบิดครั้งนี้ได้กลืนชีวิตของผู้คนไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประเทศศรีลังกาเข้าสู่สภาวะอันโศกเศร้าและน่าสะพรึงกลัว ในภาพความรุนแรงดังกล่าว เมื่อเรามองอย่างมีสติ เราก็จะพบว่า การทำงานของสื่อที่มีมาตรฐานในการขับเคลื่อนประเด็นล่อแหลมนั้น จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

เมื่อเรื่องราวดังกล่าวคือ ความมั่นคงของประเทศ สื่อของศรีลังกา จึงไม่พยายาม “ฟันธง” แบบด่วนสรุป เพราะชาวศรีลังการู้ดีว่า เมื่อมี “การพาดพิง” หรือ “ด่วนพิพากษา” ในสภาพที่ไม่แน่ชัด จะส่งผลให้เกิดการแก้แค้นตามมาในแผ่นดินศรีลังกา

สิ่งนี้ค่อนข้างจะเปราะบางและน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกันก็มีสื่อหลาย ๆ สำนัก พยายามนำเสนอในรูปของการชี้ประเด็นและชี้ชัดว่าใคร กลุ่มไหน และขับเคลื่อนด้วยวิธีใด สื่อต่างประเทศพยายามสื่อสิ่งเหล่านี้ออกมา เพราะตนเองไม่ได้รับผิดชอบอะไรหากเกิดเหตุการณ์บานปลาย หนำซ้ำ การนำเสนอแบบฟันธงอาจก่อให้เกิดความรุนแรงตอบโต้ตามมา จะเห็นได้ว่า การเสพสื่อในช่วงนี้จึงต้องระวังเป็นพิเศษ จิกซอร์ของสื่อเริ่มทำงานได้อย่างคมชัด และค่อนข้างรัดกุมภายใต้สถานการณ์อันเปราะบาง

จากเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งนำเสนอโดยผู้นำในประเทศนิวซีแลนด์ด้วยการ “ไม่เอ่ยชื่อของผู้ก่อเหตุ” กรณีบุกยิงมัสยิดเมืองไครเชิร์ส ครั้งที่ผ่านมา “การกระทำดังกล่าวไม่ใช่เพื่ออื่นใด นอกจากรักษาภาพของสังคมองค์รวม ความสามัคคีและควบคุมเหตุการณ์ไม่ให้บานปลายนั่นเอง”

การตั้งสติในการรับมือกับความโกลาหลวุ่นวายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นในห้วงเวลาเยี่ยงนี้

แม้ขณะนี้ สื่อของศรีลังกา Dailymirror จะระบุว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวนั้นกลุ่ม IS เป็นผู้ออกมายอมรับ เป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งอ้างจากสื่อ Amaq เป็นกระบอกเสียงของกลุ่มไอเอสเป็นผู้รายงาน ” (Dailymirror, 2019) ซึ่งไม่ต่างจากสื่ออื่น ๆ ในศรีลังกา เช่น Adaderana ได้ระบุว่า “กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในประเทสศรีลังกาครั้งนี้นั้นคือ กลุ่ม IS และกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในประเทศศรีลังกาในนามกลุ่ม NTJ: National Tawheed Jamath ซึ่งหนึ่งในผู้ก่อเหตุพลีชีพในครั้งนี้ชื่อ ซะรอน ฮาชิม (Zahran Hashim) เป็นผู้อยู่ในสังกัดของกลุ่ม NTJ นั่นเอง

ทาง IS ก็ได้อ้างถึง ผู้ก่อการจำนวน 8 คนนั้น ซึ่งแต่ละคนนั้นมีหน้าที่ในสถานที่ต่าง ๆ ที่ตนเองต้องรับผิดชอบ พร้อมด้วยการอำพรางตนเอง นอกจาก ชะรอน ฮาชิม ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มของพวกเขา ไม่ได้ปิดบังอะไรเลย (Adaderana, 2019)

กระนั้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 นายกรัฐมนตรีศรีลังกา รานิล วิเกรสิงเห ก็ได้ให้สัมภาษณ์ด้วยการบอกว่า “อาจเป็นไปได้ว่า การโจมตีโบสถ์ในศรีลังกา ช่วงวันอีสเตอร์ เป็นการตอบโต้จากการโจมตีมัสยิดในวันศุกร์แห่งเมืองไครเชิร์ส นิวซีแลนด์ แต่ตอนนี้เราก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่นอน



การโจมตีครั้งนี้มีเครือข่ายจากต่างประเทศเกี่ยวข้องเพราะเป็นไปไม่ได้ที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจากคนในประเทศศรีลังกาเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งอาจจะมีการฝึกอาวุธและมีความร่วมมือระหว่างกัน กระนั้น เราก็ไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้มาก่อน

นอกจากนี้บางส่วนของผู้ก่อเหตุได้เดินทางออกนอกประเทศแล้วกลับบ้านของตนไปเรียบร้อยแล้ว ขณะที่หน่วยงานความมั่นคงศรีลังกาได้กล่าวว่า “มีบางส่วนจากชาวศรีลังกาที่ได้ไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอส แล้วกลับมายังประเทศบ้านเกิด ซึ่งในขณะนี้มือระเบิดหลายคนได้รับการจับกุมแล้ว

นายกรัฐมนตรีศรีลังกาได้กล่าวว่า “ผู้ก่อเหตุความรุนแรงที่ฆ่าผู้คนไปกว่า 320 คนในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นผู้มีศาสนาแต่อย่างใด เพราะผู้ก่อการร้ายไม่ได้มีความเชื่อเรื่องศาสนาตั้งแต่ต้น

ด้วยเหตุนี้ ศรีลังกาจะให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะ “ความเป็นหนึ่งและความสามัคคีทางด้านศาสนา” ในประเทศเพื่อต่อต้านแนวคิดการก่อการร้ายสากล ซึ่งมีเพียงไม่กี่คนที่อยู่บนถนนสายนั้น Adaderana (2019)

ท่านนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาปฏิเสธที่จะระบุชื่อของกลุ่มในการก่อการครั้งนี้ขณะให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อจากการการรายงานของ Adaderana กระนั้นท่านก็ยังกล่าวว่า กลุ่มก่อการร้ายในลักษณะดังกล่าวที่คิดร้ายต่อศรีลังกานั้นมีแค่เพียงส่วนน้อยเท่านั้นเอง ชาวมุสลิมก็ประณามเหตุการณ์ในครั้งนี้

หากเราไม่ระมัดระวัง แน่นอนประเทศของเราก็จะลุกเป็นไฟอย่างที่เคยเกิดขึ้นระหว่างสิงหลและทมิฬในอดีตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สิ่งเหล่านี้มากกว่าที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศศรีลังกาในขณะนี้


อ่านเพิ่มเติม
จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์. (2019). สื่อและเหตุการณ์ความไม่สงบในศรีลังกา. Mapping Extremism in South Asia.
อับดุรเราะฮหมาน มูเก็ม. (2019). ศรีลังกา: บาดแผลและหยดน้ำตาในเอเชียใต้. Mapping Extremism in South Asia.
Adaderana. (2019). ISIS suspect gave advance warning of Sri Lanka bombings – report.
Adaderana. (2019). Terrorists do not belong to any faith – PM.
AlJazeera. (2019). Sri Lanka Bombing. AlJazeera. April 23, 2019

Leave a comment

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.